วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลูกจ้างทำงานวันละ 8 ชั่วโมง

สวัสดีครับ
วันนี้ผมอยากจะนำเรื่องวันเวลาทำงานของลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ในมาตรา 23  ที่กำหนดให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานได้ไม่เกินเวลาทำงานของแต่ละประเภทงาน(ซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง) แต่วันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งการกำหนดไว้เช่นนี้มักมีประเด็นที่มีข้อสงสัยติดตามมาที่จะต้องให้ความกระจ่างชัดเจน ก็คือว่ากรณีที่ในวันใดวันหนึ่งที่มีการทำงานน้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง อาจด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ แต่กฎหมายได้กำหนดช่องทางไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันนำเวลาที่ทำงานในส่วนที่เหลือไว้ในวันนั้นไปรวมกับเวลาทำงานที่เหลือในวันทำงานปกติวันอื่นๆ ได้ แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกันแล้วมีเงื่อนไขเล็กน้อยก็คือต้องไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมง และเมื่อรวมตลอดทั้งสัปดาห์แล้วจะต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลายท่านที่สงสัยก็คงเข้าใจกระจ่างชัดมากขึ้น  แต่ในประเด็นนี้มีประเด็นที่ต้องไม่มองข้ามก็คืองานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างต้องไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง และเมื่อรวมตลอดทั้งสัปดาห์แล้วไม่เกิน  42 ชั่วโมงครับ
ที่นี้ก็จะมีประเด็นตามมาอีกแน่นอนบางคนอาจสงสัยทึ่จะตั้งประเด็นต่อไปว่า หากนำไปรวมกับวันอื่นแล้วเกินวันละ 8 ชั่วโมงแล้วล่ะ ส่วนที่เกินจ่ายค่าจ้างกันอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย อันนี้ฟันธงได้เลยครับว่าส่วนที่เกินกว่า 8 ชั่วโมง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าอันนี้ชัดเจนไม่ต้องสงสัยใดๆ เพราะมีกำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว
ปัญหาที่ตามมาไม่จบไม่สิ้นอีกอย่างก็คือ กรณีที่มีประเภทกิจการที่นายจ้างไม่สามารถกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในแต่ละวันได้จะทำอย่างไรดี อันนี้บางคนอาจปวดหัวไม่อยากคิดให้มันมากความ ไม่มีปัญหาครับกฎหมายยังเปิดช่องให้ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันเองในการกำหนดเวลาทำงานของแต่ละวันได้
หลายท่านที่สงสัยเรื่องนี้มานานก็อาจจะโล่งใจได้บ้างเมื่อได้อ่านเรื่องนี้จบลงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น