วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา

สวัสดีครับ
หลังจากที่ท่านได้อ่านบทความเรื่องวันเวลาทำงานของลูกจ้างซึ่งกำหนดโดยกฎหมายไปแล้วก็หวังว่าคงทำให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องวันเวลาการทำงานที่จำเป็นที่นายจ้างต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับวันนี้ผมขอโอกาสนำเรื่องการทำงานล่วงเวลาซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของลูกจ้างทุกคนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ตราบใดที่ยังคงทำงานเป็นลูกจ้าง มีนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินตอบแทนการทำงาน
อาจมีบางคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่า การทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติหรือในวันหยุด รวมทั้งการให้ทำงานในวันหยุด เป็นเรื่องที่กฎหมายได้ระบุเป็นข้อห้ามไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24  25 26  กล่าวคือการทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนจึงจะสามารถทำงานได้ แต่อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งดีอกดีใจไป ก็มีข้อยกเว้นบางประการเหมือนกัน ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดก็อาจเกิดความเสียหายแก่งานได้หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างก็อาจให้ลูกจ้างทำงานได้แต่ทั้งนี้ตามความจำเป็น ในกรณีนี้รวมถึงการทำงานในวันหยุดด้วยเช่นเดียวกัน
แต่อย่างเพิ่งดีใจไปครับ ในบางประเภทกิจการ เช่น โรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล หรือ อื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้ แต่ก็ต้องได้คำยินยอมจากลูกจ้างก่อน
มีปัญหาข้อกฎหมาย ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือทีเพชรบูรณ์ติดต่อที่ โทร. 056-737055-6 9  ต่อ 12, 13, 14

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ดีแทคเล็งคืนคลื่นให้ กสทช. ประมูลใหม่

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค เผย มีนโยบายที่จะคืนคลื่นความถี่ 1800เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 25เมกะเฮิรตซ์ ให้กสทช.เปิดประมูลใหม่


นายจอห์น เอ็ดดี้ อับดุลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า ขณะนี้ดีแทคมีนโยบายที่จะคืนคลื่นความถี่ 1800เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 25เมกะเฮิรตซ์ ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากที่ดีแทคมีคลื่นทั้งหมด50เมกะเฮิรตซ์

เหตุผลที่ดีแทคจำเป็นต้องคืนคลืนจำนวน 25เมกะเฮิรตซ์ เพราะต้องการให้กสทช.นำคลื่นความถี่ที่เหลือไปเปิดประมูลใหม่ เพราะสัญญาสัมปทานของดีแทคเหลือระยะเวลาอีก 8ปี ขณะที่บริษัท ทรูมูฟ และบ.ดิจิตอล โฟน หรือดีพีซี สัญญาสัมมปทานมือถือจะหมดอายุลงภายในอีก 2ปีข้างหน้า ซึ่งทั้งสองบริษัทมีคลื่นความถี่แห่งละ 12.5เมกะเฮิร์ต เมื่อรวมกับคลื่นความถี่ของดีแทค จะทำให้คลื่นความถี่ 1800เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งสิ้นเป็น 50เมกะเฮิรตซ์ น่าจะนำคลื่นความถี่เหล่านี้คืนให้กสทช.เปิดประมูลใหม่

แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยเกิดการใช้งานคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังทำให้ดีแทคสามารถเป็นเจ้าของไลเซนส์ได้ทั้ง 3จี และ 4จี เพราะแม้ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เทคโนโลยี 4จี แล้ว แต่ 3จี ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น

นายจอห์น เอ็ดดี้ อับดุลลาร์กล่าว ดีแทคอยากเป็นส่วนหนึ่งให้อินดัสตรีเดินไปข้างหน้า เมื่อกสทช.จัดตั้งแล้วเสร็จและมีการจัดทำแผนความถี่แห่งชาติ คลื่นความถี่ทื้ง 1800เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ 2.1เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ทั้งสองคลื่นควรนำมาเปิดประมูลใหม่เพื่อจะได้ใบอนุญาตทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมมือถือเป็นมาตรฐานเดียวกัน

Source : thannews/dtac.co.th (Image)

09 หมวดนำหน้าใหม่ของโทรศัพท์มือถือ

กสทช.ได้จัดสรรหมายเลขโทรศัพท์ใหม่หมวด 09 ให้ผู้ใช้มือถือล็อตใหม่ 100 ล้านเริ่มไปเมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจัดสรรให้เอไอเอส-ดีแทคแล้วรายละ 1 ล้านเลขหมาย

นายประเสริฐ อภิปุญญา ปฏิบัติหน้าที่รักษการรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช.ได้จัดสรรเลขหมายโทรศัพท์ใหม่ในหมวด 09X-XXX-XXXX จำนวน 100 ล้านเลขหมาย เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากหมวด 08 จำนวน 100 ล้านเลขหมายได้หมดลงแล้ว โดยได้เริ่มใช้อย่างเป็นทางการเดือน พ.ค.

การจัดสรรเลขหมายหมวด 09 ในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ 08 เดิม แต่จะหมายถึงผู้ซื้อซิมล็อตใหม่ในหมวด 09 ซึ่งขณะนี้ได้จัดสรรแล้วให้กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค รายละ 1 ล้านเลขหมาย

ก่อนหน้านี้ การใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือได้เปลี่ยนจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ด้วยการเติม 08 เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2549 โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ทำให้มีเลขหมายเพิ่มขึ้น 100 ล้านเลขหมาย แต่ต้องจัดสรรให้กับแต่ละรายไปเกือบ 60 ล้านเลขหมาย ส่งผลให้เหลือเลขหมายใหม่เพียง 40 ล้านเลขหมาย

นอกจากนี้ ระเบียบข้อบังคับของ กทช.ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการแต่ละรายต้องคงเลขหมายไว้เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับผู้ใช้ในระบบบัตรเติมเงิน หรือ พรีเพด ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำเลขหมายกลับมารีไซเคิลได้ในระยะเวลารวดเร็ว ส่งผลให้ 40 ล้านเลขหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

นายประเสริฐ กล่าวว่า การเข้าสู่หมวด 09 ถือเป็นแผนเลขหมายโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เดิม ซึ่งขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่ กสทช.ได้จัดทำขึ้นใหม่เพื่อรองรับความต้องการใช้งานในอนาคต ประมาณ 30 ปี ทั้งจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน และผู้ให้บริการรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันหลังเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม ซึ่งคาดว่าจำนวน 100 ล้านเลขหมายจะเพียงพอต่อความต้องการ

ขณะที่ปัญหาการนำเข้าอุปกรณ์เพื่อขยายโครงข่าย 3 จีของทรูมูฟที่มีปัญหานั้น มั่นใจว่าจะจบลงเร็ว เพราะตามกฎหมาย กสทช. ได้กำหนดสิทธิ์และอำนาจของ กทช.ที่ทำหน้าที่แทนไว้ชัดเจนแล้วว่าสามารถอนุมัติเรื่องต่างๆ ได้ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่สะดุด

ด้านดีแทคประกาศความพร้อมในการจัดจำหน่ายซิมในหมวดเบอร์ใหม่ตามที่ได้รับการจัดสรรจาก กสทช. โดยจะเริ่มจัดจำหน่ายในเดือน พ.ค.สำหรับลูกค้าทั้งแบบรายเดือนและพรีเพด

Source:โพสต์ทูเดย์

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลูกจ้างทำงานวันละ 8 ชั่วโมง

สวัสดีครับ
วันนี้ผมอยากจะนำเรื่องวันเวลาทำงานของลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ในมาตรา 23  ที่กำหนดให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานได้ไม่เกินเวลาทำงานของแต่ละประเภทงาน(ซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง) แต่วันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งการกำหนดไว้เช่นนี้มักมีประเด็นที่มีข้อสงสัยติดตามมาที่จะต้องให้ความกระจ่างชัดเจน ก็คือว่ากรณีที่ในวันใดวันหนึ่งที่มีการทำงานน้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง อาจด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ แต่กฎหมายได้กำหนดช่องทางไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันนำเวลาที่ทำงานในส่วนที่เหลือไว้ในวันนั้นไปรวมกับเวลาทำงานที่เหลือในวันทำงานปกติวันอื่นๆ ได้ แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกันแล้วมีเงื่อนไขเล็กน้อยก็คือต้องไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมง และเมื่อรวมตลอดทั้งสัปดาห์แล้วจะต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลายท่านที่สงสัยก็คงเข้าใจกระจ่างชัดมากขึ้น  แต่ในประเด็นนี้มีประเด็นที่ต้องไม่มองข้ามก็คืองานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างต้องไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง และเมื่อรวมตลอดทั้งสัปดาห์แล้วไม่เกิน  42 ชั่วโมงครับ
ที่นี้ก็จะมีประเด็นตามมาอีกแน่นอนบางคนอาจสงสัยทึ่จะตั้งประเด็นต่อไปว่า หากนำไปรวมกับวันอื่นแล้วเกินวันละ 8 ชั่วโมงแล้วล่ะ ส่วนที่เกินจ่ายค่าจ้างกันอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย อันนี้ฟันธงได้เลยครับว่าส่วนที่เกินกว่า 8 ชั่วโมง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าอันนี้ชัดเจนไม่ต้องสงสัยใดๆ เพราะมีกำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว
ปัญหาที่ตามมาไม่จบไม่สิ้นอีกอย่างก็คือ กรณีที่มีประเภทกิจการที่นายจ้างไม่สามารถกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในแต่ละวันได้จะทำอย่างไรดี อันนี้บางคนอาจปวดหัวไม่อยากคิดให้มันมากความ ไม่มีปัญหาครับกฎหมายยังเปิดช่องให้ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันเองในการกำหนดเวลาทำงานของแต่ละวันได้
หลายท่านที่สงสัยเรื่องนี้มานานก็อาจจะโล่งใจได้บ้างเมื่อได้อ่านเรื่องนี้จบลงครับ

อย่างนี้ก็มีด้วยหรือในประเทศนี้

นับแต่ทำงานอยู่ในแวดวงแรงงานมานานเกือบ 20 ปี ผ่านการตรวจแรงงานมาไม้น้อย ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่เคยได้พบได้ยินเรื่องดีๆ เช่นนี้มาก่อน ผมกำลังคิดว่าจะมีสถานประกอบกิจการในประเทศไทยสักกี่แห่งที่ผู้บริหารระดับสูง ที่มีความเอาใจใส่ห่วงใยพนักงานของตนเองมากมายเพียงนี้ โดยได้มีนโยบายด้านการจัดสวัสดิการให้กับพนักงานของตน ซึ่งสถานประกอบกิจการแห่งนี้มีเจ้าของเป็นชาวญี่ปุ่น ที่มาประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมปลวกแดง ระยอง โดยพนักงานคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เขาทำงานในโรงงานแห่งนี้ซึ่งประกอบกิจการผลิตอะไหล่รถยนต์ให้กับบริษัทรถยนต์ ได้บอกอย่างภาคภูมิใจว่าทำงานอยู่ที่บริษัทนี้ไม่คิดจะลาออกไปทำงานที่ไหน เพราะที่นี่ได้รับสวัสดิการที่มากกว่ากฎหมายมากมาย เช่น มีค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 1,000 บาท บิดามารดาที่มีอายุเกิน 60 ปี ก็ได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาท ส่วนภรรยาหากไม่ได้ทำงานก็จะได้รับเงินอีกเดือนละ 3,000 บาท โดยไม่จำกัด นอกจากนี้มีเงินสำหรับค่าน้ำมันรถกิโลเมตรละ 3 บาท ค่าที่พักอีก
และยังไม่ทันที่จะถามคำถามอื่น เขาก็ได้รีบเล่าเรื่องราวที่เขาเองบอกว่าภูมิใจมากและไม่คิดจะไปทำงานที่อื่นที่ไหนอีก เพราะที่นี่เขาและเพื่อนพนักงานทุกคนมีความรักและผูกพันกับบริษัทนี้มาก เหมือนกับครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่งของชีวิตพวกเขา เพราะที่นี่ได้ให้พวกเขามากมาย
ผมก็อดที่จะถามต่อไปไม่ได้ว่าแล้วการลาออกของพนักงานที่นี่เป็นอย่างไร คำตอบที่ได้ก็คือการลาออกออกแทบจะไม่มีเลย ยกเว้นบางคนที่ต้องไปประกอบธุรกิจส่วนตัวเท่านั้นหรือต้องกลับไปบ้านต่างจังหวัด แต่การลาออกเพื่อไปหางานทำที่อื่น เขายืนยันว่าไม่มีเลย
ได้ฟังเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด ในฐานะที่ผมเป็นพนักงานตรวจแรงงานก็อดที่จะรู้สึกภาคภูมิใจแทนพนักงานทุกๆ คนไม่ได้และในใจลึกๆ คงมีความอบอุ่นใจและเกิดความมั่นคงมั่นใจที่จะฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับนายจ้างญี่ปุ่นผู้ใจดีนี้ ซึ่งโอกาสดีๆ เช่นนี้คงไม่ได้มีกันง่ายๆนัก

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แจ้งการขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป)

ตามที่สถานประกอบกิจการหลายแห่งได้แจ้งชื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเพื่อขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ ตามกฏกระทรวงแรงงานกำหนดมาตรฐานในการบริหารงานและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ตรวจสอบเอกสารแล้วปรากฏว่าถูกต้อง ซึ่งได้แจ้งให้เลขรหัสทะเบียนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานให้ท่านทราบแล้ว หากท่านมีข้อสงสัยประการใดขอให้ติดต่อสอบถามได้ที่คุณ ลอองศิลป์ ญาณวารี โทร. 056 737055-6  ต่อ 13
ส่วนสถานประกอบการแห่งใดที่ยังไม่ได้แจ้งหรือไม่มีชื่อตามทะเบียนฯ ขอให้แจ้งโดยด่วน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2554

3 กรกฎาเข้าคูหากากบาทเลือกใครดี

สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอเชิญผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงานไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่การเลือกตั้งครั้งในนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะได้มีโอกาสใช้สิทธิตามกฎหมายเต็มที่ เพราะนอกจากมีรายชื่อ ส.ส.ให้เลือกสรรค์กันมากมายแล้ว แต่ถ้ายังไม่มีคนถูกใจก็สามารถที่จะเลือกในช่องไม่ประสงค์เลือกใครได้อีกซึ่งอยู่ท้ายบัตรลงคะแนน ช่องสุดท้ายของบัตรนั่นแหละ
แต่อย่างไรก็ดี ก่อนถึงวันเลือกตั้ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ จะได้จัดประชุมเพื่อรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะได้แจ้งข่าวให้ท่านทราบทางสื่อต่างๆ ต่อไป หรือสอบถามได้ที่ โทร.056 737 055-6  ต่อ 12 , 13. 14